ทำความรู้จัก ประเภทรถยนต์ในท้องตลาด ว่าแต่ละแบบเรียกว่าอะไร?

ทำความรู้จัก ประเภทรถยนต์ในท้องตลาด ว่าแต่ละแบบเรียกว่าอะไร?
ทำความรู้จัก ประเภทรถยนต์ในท้องตลาด ว่าแต่ละแบบเรียกว่าอะไร?

เชื่อว่าหลายคนคุ้นชินกับการจำแนกประเภทรถยนต์ต่างๆ ด้วยการเรียกตามความเข้าใจว่า รถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ ฯลฯ แต่จริงๆ แล้วรถยนต์แต่ละชนิดก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เข้าใจถึงประเภทรถยนต์ต่างๆ ให้มากขึ้น วันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเภทรถยนต์ที่แตกต่างกันตั้งแต่ในเรื่องของรูปทรง สมรรถนะ และอื่นๆ มาให้ทำความรู้จักกันมากขึ้น เผื่ออนาคตมีโอกาสได้ออกรถยนต์คันใหม่ จะได้เลือกประเภทรถยนต์ได้ตรงกับความต้องการของตนเองมากที่สุด
 

ประเภทรถยนต์และลักษณะที่ต้องรู้

 

 

1.ประเภทรถยนต์ ซีดาน (Sedan) 

เชื่อว่าเป็นหนึ่งในโมเดลรถยนต์ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีไม่น้อยสำหรับรถครอบครัวรุ่นนี้ เพราะจุดเด่นของโมเดลรถยนต์รุ่นนี้คือ มี 4 ประตู และมีโซนสำหรับสัมภาระที่ท้ายรถที่แยกจากกัน ส่วนตัวถังมีหลายขนาดและครอบคลุมตั้งแต่รถยนต์ธรรมดาทั่วไปจนถึงรถยนต์หรู ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเรียกรถยนต์ประเภทนี้ว่า “รถเก๋ง”

 

 

2.ประเภทรถยนต์ แฮตช์แบ็ก (Hatchback)

เป็นรถยนต์ที่มีลักษณะคล้ายกับรถซีดาน เพียงแต่ช่วงท้ายของรถจะมีขนาดที่สั้นกว่า หรือที่เรียกกันว่าท้ายตัด โดยจะมีทั้ง 3 ประตูและ 5 ประตู โดยจะนับตั้งแต่ประตูด้านข้างทั้งซ้าย - ขวา และฝากระโปรงหลังเป็นอีก 1 ประตู ซึ่งรถยนต์ประเภทนี้มีพื้นฐานเดียวกับรถยนต์ซีดาน จุดเด่นของรถยนต์แฮตช์แบ็ก คือ มีพื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายรถที่มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถพับเบาะแถวสองของรถเพื่อเพิ่มพื้นที่ได้อีกด้วย โดยรถยนต์รูปทรงนี้จะครอบคลุมทั้งรถยนต์ทั่วไปไปจนถึงรถยนต์หรู
 


3.ประเภทรถยนต์ สเตชันแวกอน (Station Wagon)

รถยนต์ประเภทสเตชันแวกอนจะมีลักษณะคล้ายกับรถแฮตช์แบ็ก แต่จะมีส่วนท้ายที่ยื่นออกมามากกว่าสำหรับรองรับการบรรทุกสัมภาระ อีกทั้งตัวรถยนต์ยังออกแบบจำนวนเสา D เพิ่มเข้ามา เพื่อให้มีพื้นที่โดยสารหรือเก็บสัมภาระมากขึ้น ซึ่งประเภทรถยนต์สเตชันแวกอนได้รับความนิยมในฐานะรถครอบครัว ก่อนที่ประเภทรถยนต์เอสยูวีจะมาครองตลาดแทนที่ โดยรถกลุ่มนี้ในท้องตลาดบ้านเราจะมีในรูปแบบของรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย


 

4.ประเภทรถยนต์ คูเป้ (Coupe)

สังเกตได้ง่ายๆ สำหรับคูเป้จะเป็นรถยนต์ 2 ประตู พร้อมหลังคาที่ถูกออกแบบมาให้ลาดท้าย ส่วนภายในจะมีให้เลือก 2 ประเภทคือ 2 ที่นั่งและ 4 ที่นั่ง ตามขนาดของตัวถัง ส่วนมากประเภทรถยนต์นี้จะพบได้ในกลุ่มรถสปอร์ต แต่ในปัจจุบันได้ครอบคลุมไปยังรถยนต์ประเภท 4 ประตู หรือรถเอสยูวี ที่ให้ลุคดูสปอร์ตมากขึ้นแล้ว
 


 

5.ประเภทรถยนต์ ครอสโอเวอร์ (Crossover)

ประเภทรถยนต์ครอสโอเวอร์ หรือที่เรียกย่อๆ กันว่ารถ CUV ที่ย่อมาจากคำว่า Cross Utility Vehicle ซึ่งเป็นการนำพื้นฐานของประเภทรถยนต์ซีดานมาขยายร่างยกสูงขึ้น จึงทำให้มีความคล่องตัวมากกว่ารถประเภทซีดาน และยังมีรูปลักษณ์ที่ดูสปอร์ต โฉบเฉี่ยว อีกทั้งยังสามารถบรรทุกสัมภาระได้มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ตัวรถยังสามารถลุยได้ในเส้นทางที่รถยนต์ซีดานหรือรถเก๋งธรรมดาไม่สามารถวิ่งได้ ด้วยระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ แต่ในบางรุ่นจะมีการเพิ่มระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเข้ามาด้วย โดยตัวประเภทรถยนต์ ครอส์โอเวอร์ จะมีความแตกต่างกับรถ SUV ตรงที่รถ SUV จะมีตัวถังที่ใหญ่กว่าและเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อนั่นเอง

6.ประเภทรถยนต์ เอสยูวี (SUV)

SUV (Sport Utility Vehicle) คือ รถยนต์อเนกประสงค์สารพัดประโยชน์ที่มีสมรรถนะการขับขี่สูง ส่วนใหญ่มาในรูปแบบ 5 - 7 ที่นั่ง พร้อมตัวถังที่มีขนาดใหญ่ซึ่งออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย และยังมีดีไซน์ที่สวยงาม ดูเท่เหมือนกับรถสปอร์ตในพื้นฐานของรถทั่วไป ซึ่งประเภทรถยนต์นี้จะเหมาะกับครอบครัวใหญ่ที่ต้องการใช้พื้นที่ในรถยนต์ที่กว้างขวาง นอกจากนี้รถยนต์ SUV ยังมาในระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ และ 2 ล้อ อีกด้วย
 

7.ประเภทรถยนต์ พีพีวี (PPV)

รถยนต์พีพีวี หรือ Pick-up Passanger Vehicle เป็นรถยนต์อเนกประสงค์ที่มีพื้นฐานมาจากรถกระบะ ด้วยระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ และ 4 ล้อ หรือรุ่นยกสูงที่นำมาดัดแปลงกลายเป็นรถยนต์นั่ง โดยมีการเปลี่ยนตัวถังและเปลี่ยนช่วงล่างใหม่ ซึ่งจุดเด่นของประเภทรถยนต์นี้ก็คือ พื้นที่ภายในตัวรถสามารถบรรทุกผู้โดยสารมากสุดถึง 7 ที่นั่ง และสามารถเพิ่มฟีเจอร์ได้มากกว่ารถยนต์ SUV จึงทำให้สามารถลุยเส้นทางได้หลากหลายกว่านั่นเอง
 

8.ประเภทรถยนต์กระบะ (Pickup)

รถกระบะ หรือ รถปิกอัพ เป็นรถยนต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยรูปทรงที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ส่วนหน้าที่เป็นห้องโดยสาร และส่วนหลังเป็นกระบะสำหรับบรรทุกของ โดยสามารถเปิดท้ายได้ ในส่วนของพื้นที่โดยสารจะถูกแบ่งเป็น 2 ที่นั่ง กับ 4 ที่นั่ง และขนาดของกระบะจะเปลี่ยนตามขนาดของห้องโดยสารเพื่อให้มีความยาวที่เหมาะสม ซึ่งประเภทรถยนต์นี้สามารถใช้งานได้ตั้งแต่เป็นรถยนต์นั่งทั่วไปจนถึงรถบรรทุกของใช้งาน จึงทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตลาดเมืองไทยของเรา
 

9.ประเภทรถยนต์ มินิเอ็มพีวี (Mini MPV)

รถยนต์มินิเอ็มพีวี (Mini MPV) คือรถยนต์ครอบครัวอเนกประสงค์แบบ 5-7 ที่นั่ง ที่มีขนาดใหญ่และมีพื้นที่เก็บของด้านท้ายรถเยอะ สำหรับคำว่า MPV นั้นย่อมาจากคำว่า Muti Purpose Van นั่นเอง ซึ่งรถยนต์ Mini MPV ที่ได้รับความนิยมในท้องตลาดตอนนี้ก็มีหลากหลายค่ายด้วยกัน ทั้ง Honda, Toyota, Mitsubishi เป็นต้น


10.ประเภทรถยนต์แวน (Van)

รถยนต์แวน (Van) รถยนต์ประเภทนี้มีจุดเด่นอยู่ที่หลังคาสูง และมีความสะดวกสบายในการเข้า - ออกตัวรถ ซึ่งประตูรถยนต์ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบประตูสไลด์ ในส่วนภายในตัวรถนั้นสามารถปรับตำแหน่งเบาะนั่งได้ด้วยรางบนพื้น และไม่มีเนินครอบเพลาตรงกลาง เนื่องจากตัวรถมีการยกสูง ทำให้สามารถเข้า - ออกได้คล่องตัว เป็นประเภทรถยนต์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับครอบครัวโดยเฉพาะ อีกทั้งตัวรถยังมีหลากหลายรูปทรงเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายอีกด้วย



11.ประเภทรถยนต์แบบเปิดประทุน (Cabrio)

รถยนต์เปิดประทุน หรือเรียกอีกอย่างว่ารถ Convertible เป็นรถยนต์สปอร์ตแบบ 2 ประตู ที่มีทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ให้เลือกใช้งาน โดยที่นั่งมีจำนวนจำกัดเพียง 2-4 ที่นั่งเท่านั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์และรุ่นรถ รวมถึงเรตราคาก็มีให้เลือกตั้งแต่ล้านต้นๆ ไปจนถึงหลักสิบล้านบาท ซึ่งความพิเศษของรถยนต์ประเภทนี้คือ สามารถเปิดประทุนและปิดประทุนได้ ทำให้ได้ทัศนียภาพในการขับขี่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไปนั่นเอง นอกจากนี้รถเปิดประทุนบางตัวยังถูกเรียกว่า Roadster หรือ Spyder อีกด้วย ซึ่งจุดเด่นของรถประเภทนี้คือ เป็นรถที่ไม่มีหลังคา หรือเป็นหลังคาแก้วที่เรียกว่า Targa ที่สามารถยกหรือถอดออกได้
 



12.ประเภทรถยนต์สปอร์ตคาร์ (Sport Car)

สำหรับรถยนต์กลุ่มนี้จะมีการต่อยอดมาจากประเภทรถยนต์คูเป้ ซึ่งในบางรุ่นจะเป็นแบบ 4 ประตู โดยเน้นการออกแบบให้ลู่ลมมากขึ้น เกาะถนนมากขึ้น และยังมาพร้อมกับเครื่องยนต์กำลังสูง นอกจากนี้ยังมีการออกแบบใต้ท้องรถให้มีความสูงจากพื้นต่ำ เพื่อให้ดูสวยงามและเท่ ซึ่งมาพร้อมกับล้อขนาดใหญ่ โดยส่วนมากตัวเครื่องยนต์ของประเภทรถยนต์นี้จะถูกวางตรงกลางหรือด้านหลังของรถยนต์ วัสดุที่ใช้ประกอบตัวถังจะมีน้ำหนักเบา ทั้งนี้ประเภทรถยนต์แบบสปอร์ตคาร์ได้มีการแบ่งแยกออกตามพละกำลังของเครื่องยนต์ รวมถึงรูปลักษณ์ของตัวรถอีกด้วย โดยสามารถแบ่งตามสมรรถนะเครื่องยนต์และมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนี้

  • ซูเปอร์คาร์ (Super Car) เป็นรถยนต์ที่มีสมรรถนะมากกว่า 500 แรงม้าขึ้นไป 

  • มัสเซิลคาร์ (Muscle Car) เป็นรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ทรงพลัง และตัวถังที่บึกบึน ดูทนทานแข็งแรง

  • ไฮเปอร์คาร์ (Hyper Car) เป็นรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีรถแข่งเอามาใส่ไว้ในรถสปอร์ต เครื่องยนต์มีกำลังมากกว่า 800 - 1,000 แรงม้าขึ้นไป รูปทรงโฉบเฉี่ยว ที่สำคัญรถยนต์ประเภทนี้มีการผลิตที่จำกัด และราคาสูงมากอีกด้วย

 

ทั้งหมดนี้คือประเภทรถยนต์หลักๆ ในท้องตลาดที่มีการวางจำหน่ายและใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ารถยนต์แต่ละประเภทมีความหลากหลาย ทั้งเรื่องของเครื่องยนต์ สมรรถนะ ฟังก์ชันการใช้งานและรูปทรง รับรองได้เลยว่าจะไม่มีการเรียกประเภทรถยนต์ผิดต่อไปอีกอย่างแน่นอน ที่สำคัญไม่ว่าคุณจะขับขี่หรือเลือกซื้อรถยนต์ประเภทไหนก็ตาม ควรที่จะทำประกันภัยรถยนต์เอาไว้ด้วย เพื่อป้องกันทรัพย์สินและชีวิตของตนเอง ผู้ร่วมทาง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความอุ่นใจให้กับการขับขี่

สำหรับใครที่กำลังมองหาประกันรถยนต์ที่มีคุณภาพ บริการรวดเร็วทันใจ เป็นธรรมอยู่นั้น เราขอแนะนำประกันภัยรถยนต์ จากวิริยะประกันภัย หลากหลายประกันภัยที่สามารถคุ้มครองรถยนต์ของคุณได้ไม่ว่าจะเป็น ประกันชั้น 1 ที่ดูแลครบ จบทุกความต้องการหรือ ประกันรถยนต์ 2+ ซื้อง่ายคุ้มครองเร็ว หรือประกันรถยนต์ 3+ ประกันคุ้มจบในที่เดียว และใครที่กำลังมองหาการต่อพรบรถยนต์ที่คุ้มค่า ที่วิริยะประกันภัยเรามีครบจบที่เดียวสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.viriyah.com หรือ โทร.สอบถามได้ที่เบอร์ 0-2129-7474

 

 

อ่านบทความอื่นๆ