อยากติดตั้ง EV Charger รถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านต้องทำอย่างไร มีค่าใช้จ่ายเท่าไร?
เป็นคำถามที่คนกำลังตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ารวมถึงใช้รถยนต์ไฟฟ้าอยู่อยากรู้ไม่น้อย สำหรับการติดตั้ง EV Charger ที่บ้านต้องทำอย่างไร? มีค่าใช้จ่ายเท่าไร เพราะไม่เพียงตอบโจทย์ความสะดวกสบายในการชาร์จแบตเตอรี่เท่านั้น แต่ยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายด้วย ใครกำลังมีแพลนจะติดตั้ง EV Charger ไว้ที่บ้าน นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้!
ติดตั้ง Ev Charger ที่บ้านต้องทำอย่างไร?
แน่นอนว่าหลังจากซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว ผู้ใช้รถไฟฟ้าทุกคนคงต้องคิดถึงเรื่องการติดตั้ง Ev Charger เอาไว้ที่บ้านเพื่อความสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาหาที่ชาร์จนอกบ้าน แต่ก่อนที่จะติดตั้งต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าของตนเองและอุปกรณ์ EV Charger ที่ต้องใช้เสียก่อน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ ‘ระบบไฟฟ้า’ ของบ้านโดยตรง ดังนี้
1.ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้า
อย่างแรกเลยคือ การตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านว่ามีขนาดกี่แอมป์ หากที่บ้านใช้มิเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น 5 แอมป์, 15 แอมป์ จะต้องทำการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าให้เป็นขนาด 30 แอมป์ขึ้นไป เพราะการติดตั้ง Ev Charger ที่บ้านจำเป็นต้องใช้มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 30 แอมป์ สำหรับไฟฟ้า 1 เฟส แต่ถ้าไฟฟ้าที่บ้านเป็นแบบ 3 เฟส จะต้องใช้มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15/45 แอมป์ เพื่อให้มิเตอร์ไฟฟ้ามีขนาดเพียงพอที่จะรองรับปริมาณไฟบ้านที่มากขึ้น ซึ่งหากคุณอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็สามารถติดต่อได้ที่การไฟฟ้านครหลวง แต่หากอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ติดต่อที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทันที
2.ตรวจเช็กสายไฟเมนเข้าบ้าน
หลังจากตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านแล้ว มาต่อกันด้วยการตรวจเช็กสายไฟเมนที่ต่อจากสายไฟหลักเข้ามายังตัวบ้าน โดยตัวสายไฟเมนจะต้องมีขนาด 25 ตารางมิลลิเมตรขึ้นไป ถึงจะเพียงพอต่อตัว Ev Charger สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งขนาด 25 ตารางมิลลิเมตรนี้คือ ขนาดของสายทองแดงภายใน รวมถึงการตรวจสอบว่าตู้ควบคุมไฟฟ้า สามารถรองรับกระแสไฟฟ้า 100 แอมป์ได้หรือไม่ด้วย เพราะปกติแล้วไฟบ้านทั่วไปจะรองรับได้เพียง 45 แอมป์เท่านั้น
3.ตรวจสอบตู้ควบคุมไฟฟ้า (MCB)
Mlniature Circuit Breaker หรือตู้ควบคุมไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์เบรกเกอร์เพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์ Ev Charger ในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งตัวเบรกเกอร์นี้จะแยกกับเบรกเกอร์ตัวอื่นๆ ภายในบ้าน คุณควรตรวจสอบช่องภายในตู้ควบคุมไฟฟ้าว่ามีพื้นที่เหลือสำหรับตัวเบรกเกอร์ที่ใช้ควบคุมการชาร์จ Ev Charger นี้หรือไม่ หากไม่มีพื้นที่เหลือสามารถแยกตู้ควบคุมไฟฟ้าสำหรับใช้ควบคุมอุปกรณ์ Ev Charger เพียงอย่างเดียวได้
4.ดูเครื่องตัดไฟฟ้ารั่ว
อีกหนึ่งจุดที่ต้องตรวจสอบก็คือ เครื่องตัดไฟฟ้ารั่ว หรือ Residual Current Device (RCD) อุปกรณ์ตัวนี้จะช่วยตรวจจับและตัดวงจรไฟฟ้าหากมีการใช้ไฟฟ้าเกิน ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนเกิดเป็นเหตุเพลิงไหม้ได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงควรลงทุนติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้ารั่วให้พร้อมก่อนติดตั้ง EV Charger
5.ตรวจเช็กจุดติดตั้ง Ev Charger
การติดตั้ง Ev Charger ในตำแหน่งที่เหมาะสมก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งคุณควรคำนึงถึงเรื่องต่างๆ ดังนี้
- ควรเลือกจุดติดตั้ง Ev Charger ที่ตั้งอยู่ใกล้กับตู้เมนไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟ
- จุดติดตั้ง Ev Charger กับจุดจอดรถ ควรจะอยู่ห่างกันไม่เกิน 5 เมตร เพราะข้อจำกัดของสาย Ev Charger ที่มีความยาวอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 5-7 เมตรนั่นเอง
- ติดตั้ง Ev Charger ให้อยู่ในร่ม ไม่โดนแดด โดนฝน เพราะถึงแม้อุปกรณ์ Ev Charger จะมีการป้องกันน้ำ แต่เพื่อความปลอดภัยควรติดตั้งในที่ร่มจะดีที่สุด
เลือกหัว Ev Charger ให้ตรงกับสเปคของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้
ในปัจจุบันหัวชาร์จ Ev Charger ที่ใช้ชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้ามีด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้
-
Quick Charger หรือที่ใครๆ ก็เรียกกันว่า DC Charging ซึ่งเป็นหัวชาร์จแบบรวดเร็ว ใช้เวลาในการชาร์จไม่นานเพียง 40-60 นาที ขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าคันนั้นๆ สามารถพบได้ทั่วไปตามสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ไม่นิยมติดตั้งเพื่อใช้ในบ้าน
-
Double Speed Charge (เครื่องชาร์จ Wall Box / Ev Charger) เป็นการชาร์จด้วยกระแสไฟฟ้าสลับ (AC Charging) ที่สามารถพบเห็นได้ตามห้างสรรพสินค้าหรือโรงแรม และยังนิยมใช้กับไฟบ้านด้วย โดยหัวชาร์จแบบนี้จะผ่านตัวแปลงไฟที่ทำหน้าที่ในการแปลงไฟกระแสสลับเป็นไฟกระแสตรง ซึ่งมีระยะเวลาในการชาร์จ 4-9 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่และสมรรถนะของรถยนต์ไฟฟ้า
-
การชาร์จไฟฟ้าแบบธรรมดาด้วยชุดอุปกรณ์ที่ติดตั้งมากับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ เพิ่มเติม เพียงแต่ระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละรอบกว่าจะเต็ม 100% อาจกินเวลามากถึง 7 ชั่วโมง
ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง Ev Charger
สำหรับการติดตั้งเครื่อง Ev Charger ที่บ้านนั้นมีค่าใช้จ่ายหลักๆ ดังนี้
-
ค่าเครื่องชาร์จไฟฟ้า (Ev Charger)
ราคาเครื่อง Ev Charger นั้นขึ้นอยู่กับยี่ห้อและขนาดของกำลังไฟฟ้าที่ปล่อยออกมา โดยมีตั้งแต่ 3.7 kW, 7.4 kW, 11 kW, และ 22 kW โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 15,000 - 100,000 บาท
-
ค่าเพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าในบ้าน หรือ ค่ามิเตอร์ลูกที่ 2
ราคามิเตอร์จะถูกแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ด้วยกัน คือ ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการและนอกพื้นที่เขตกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ซึ่งจะมีราคาดังนี้
- พื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ
หากต้องการติดตั้ง Ev Charger ที่บ้านจะต้องติดต่อไปที่การไฟฟ้านครหลวง (MEA) โดยจะมีค่าตรวจสอบในการขอเพิ่มมิเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 700 - 2,500 บาท (ขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์ที่ขอ) แต่ถ้าอยากได้ค่าไฟเป็นแบบอัตรา TOU จะถูกคิดเพิ่มอีก 6,640 - 7,350 บาท
- พื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ
สำหรับคนที่อยู่นอกพื้นที่และอยากติดตั้งเครื่อง Ev Charger สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านจะต้องติดต่อไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการขอเพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าอยู่ที่ 700 - 1,500 บาท แต่หากไม่สามารถเพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าได้คุณจะต้องขอติดตั้งมิเตอร์ลูกที่ 2 แทน ซึ่งถ้าอยากได้ค่าไฟเป็นแบบ TOU จะต้องจ่ายเพิ่มอีก 3,740 - 5,340 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์ที่ทำเรื่องขอ
**หมายเหตุ : ค่าไฟอัตรา TOU (Time Of Use Tariff) คือ อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ใช้ โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ Peak ที่จะนับเวลาตั้งแต่ 09.00 - 22.00 น. วันจันทร์ - ศุกร์ และวันพืชมงคล และ Off Peak คือช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - ศุกร์ วันพืชมงคล และ 00.00 - 24.00 น. ในวันเสาร์ อาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ และวันพืชมงคลที่ตรงกับวันเสาร์ - อาทิตย์ โดยช่วง Off Peak นี้จะคิดค่าไฟฟ้าในอัตราที่ลดลงนั่นเอง |
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณต้องรู้หากอยากติดตั้ง Ev Charger ที่บ้านเพื่อรองรับการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและขอเพิ่มมิเตอร์ไฟฟ้าทั้งในเขตกรุงเทพฯ และนอกเขตกรุงเทพฯ ที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือคนที่เตรียมตัวจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้รู้เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม
สำหรับใครที่กำลังมองหาประกันรถยนต์ไฟฟ้าที่ให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุม รวมถึงทุนประกันที่จับต้องได้ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดประกันรถยนต์ไฟฟ้าจากวิริยะประกันภัย ได้ที่ www.viriyah.com หรือ โทร. 0-2129-7474