ทำความรู้จัก ตรอ คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร จะต่อภาษีรถต้องรู้!

ทำความรู้จัก ตรอ คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร จะต่อภาษีรถต้องรู้!
ทำความรู้จัก ตรอ คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร จะต่อภาษีรถต้องรู้!

เมื่อรถยนต์คู่ใจที่ขับอยู่เป็นประจำมีอายุการใช้งานที่มากขึ้น การตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เครื่องยืนยันความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการต่อภาษีรถของคุณก็ยังต้องผ่านการรับรองจากสถานตรวจสภาพรถหรือที่เรียกกันว่า ตรอ วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกันว่า ตรอ คืออะไร? มีขั้นตอนการตรวจเช็กอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร

ตรอ คืออะไร

ตรอ. หรือเรียกเต็มๆ ว่า สถานตรวจสภาพรถยนต์เอกชนที่เปิดให้บริการในการตรวจสภาพรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลานำรถไปตรวจสภาพที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งสังเกตได้ง่ายๆ ว่าหากสถานที่ตรวจสภาพรถยนต์มีสัญลักษณ์ ตรอ. จะถือว่าได้รับการอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

รถยนต์ต้องมีอายุกี่ปี ถึงจะต้องตรวจสภาพ

สำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาตรวจสภาพที่ ตรอ.จะต้องมีความมั่นคง แข็งแรง รวมถึงรถที่มีอายุการใช้งานครบตามกฎกระทรวงก็จำเป็นต้องนำรถไปตรวจสภาพที่ ตรอ. ทุกปีด้วย ดังนี้

  • รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7  ปีขึ้นไป

  • รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป

  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป

  • รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

  • รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ที่ขาดภาษีเกิน 1 ปี

โดยการนับอายุของยานพาหนะที่ขับขี่ว่าตรงตามเกณฑ์เข้าตรวจที่ ตรอ. หรือไม่นั้น สามารถนับอายุได้จากวันที่เริ่มจดทะเบียนครั้งแรกจนถึงวันที่สิ้นสุดภาษีประจำปีนั่นเอง

 

เอกสารที่ต้องเตรียม เมื่อไปตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ.

การตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ. ใช้แค่เล่มทะเบียนรถเท่านั้น ซึ่งหลังจากนำรถเข้าไปตรวจสภาพแล้วหากผ่านการตรวจ ตรอตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดก็จะได้รับใบรับรองและนำไปยื่นต่อภาษีรถยนต์ได้

ขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ. มีอะไรบ้าง

เมื่อนำรถเข้ามาตรวจที่ ตรอ. นอกจากเรื่องเอกสารแล้วจะมีการตรวจสภาพรถยนต์หลายรายการ เพื่อเช็กให้แน่ใจว่า รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์มีความพร้อมใช้งานอยู่ตลอด มีจุดไหนที่ต้องตรวจเช็กบ้างมาดูกัน

  • ตรวจข้อมูลรถ : อันดับแรก ตรอ. จะตรวจเช็กรถว่าตรงกับข้อมูลในเล่มทะเบียนรถหรือไม่ เช่น แผ่นป้ายทะเบียนรถ, แบบรถ, สีรถ, หมายเลขตัวรถ, ชนิดเครื่องยนต์, เลขเครื่องยนต์ เป็นต้น

  • ตรวจภายนอกและภายในรถ : อันดับต่อมาคือการตรวจสภาพภายนอกและภายในของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็นสภาพตัวถัง, ระบบไฟ, เข็ดขัดนิรภัย, พวงมาลัย เป็นต้น 

  • ตรวจใต้ท้องรถ : ในส่วนของการตรวจใต้ท้องรถจะเป็นการตรวจเช็กระบบความปลอดภัย เช่น ระบบเบรก, ระบบเลี้ยว, ระบบไอเสียและเชื้อเพลิง รวมถึงเครื่องยนต์ เป็นต้น

  • ตรวจเช็กประสิทธิภาพของระบบเบรก ด้วยการทดสอบกับลูกกลิ้ง : โดยจะทำการตรวจเช็กแรงห้ามล้อ เมื่อดึงเบรกมือขณะที่รถจอดอยู่กับที่ ซึ่งแรงห้ามล้อทุกล้อรวมกันจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักรถและแรงห้ามล้อหลักทุกล้อ เมื่อเหยียบเบรกเท้าแล้วจะต้องรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของน้ำหนักรถ โดยผลต่างของแรงห้ามล้อหลักทั้ง 2 ด้าน จะต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของแรงห้ามล้อสูงสุดของเพลานั้นๆ 

  • ตรวจวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และไฮโดรคาร์บอน (HC) : เป็นการตรวจวัดขณะเครื่องยนต์เดินเบาเมื่อเข้าเกียร์ว่างและปิดระบบปรับอากาศ โดย ตรอ. จะตรวจวัดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์และค่าไฮโดรคาร์บอนจากปลายท่อไอเสีย 2 ครั้ง เพื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยตามเกณฑ์ ดังนี้

    • รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ลักษณะเก๋ง หากจดทะเบียนก่อน 1 พ.ย. 2536 จะต้องมีค่า CO ไม่เกินร้อยละ 4.5 และค่า HC ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน

    • จดทะเบียนวันที่ 1 พ.ย. 2536 - 31 ธ.ค. 2549 จะต้องมีค่า CO ไม่เกินร้อยละ 1.5 ส่วนค่า HC ต้องไม่เกิน 200 ส่วนในล้านส่วน

    • รถยนต์ประเภทอื่น หากจดทะเบียนก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2550 จะต้องมีค่า CO ไม่เกินร้อยละ 4.5 และค่า HC ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน ส่วนรถที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2550 เป็นต้นไป จะต้องมีค่า CO ไม่เกินร้อยละ 0.5 และค่า HC ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน

  • ตรวจเช็กควันดำ : การตรวจวัดค่าควันดำ จะทำการตรวจวัดขณะเร่งเครื่องด้วยความเร็วสูงขณะเข้าเกียร์ว่างและปิดระบบปรับอากาศ ซึ่งการเก็บวัดค่าควันดำจะใช้การเก็บ 2 ครั้ง ด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรอง (Filter) โดยค่าควันดำที่ได้จะต้องไม่เกิน 50% และค่าความทึบของแสง (Opacity) จะต้องไม่เกิน 45% ถึงจะตรงตามข้อกำหนด 

  • ตรวจเช็กระดับเสียงของท่อไอเสีย : การวัดระดับเสียงของท่อไอเสีย จะทำการวัดตอนที่เร่งเครื่องยนต์จนสุดคันเร่งในกรณีที่เป็นรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ส่วนเครื่องยนต์เบนซินจะทำการวัดตอนเร่งเครื่องยนต์ให้มีความเร็ว 3 ใน 4 ของรอบเครื่องยนต์ โดยค่าระดับเสียงจะต้องมีค่าไม่เกิน 100 เดซิเบล

  • ตรวจเช็กระบบไฟ : ในส่วนของระบบไฟที่ต้องทำการตรวจเช็กก็คือระบบไฟหน้า โดยจะวัดจากทิศทางเบี่ยงเบนและค่าความเข้มข้นของแสง ดังนี้

    • ระบบไฟต่ำ มุมกดของไฟต่ำจะต้องกดลงไปในแนวราบร้อยละ 0.5 (0.29) องศา ถึงร้อยละ 4.0 (2.29 องศา) โดยความสว่างของไฟต่ำทั้งสองข้างจะต้องไม่น้อยกว่า 6,400 แคนเดลลา และทิศทางของไฟจะต้องไม่เบี่ยงไปทางทิศขวา

    • ระบบไฟสูง ความสว่างของไฟสูงทั้งสองข้างจะต้องไม่น้อยกว่า 12,000 แคนเดลลา และรวมกันต้องไม่เกิน 430,000 แคนเดลลา และทิศทางการเบี่ยงเบนของดวงไฟจะต้องไม่ไปในด้านขวาและไม่สูงเกินกว่าเส้นแนวราบ เป็นต้น

อัตราค่าบริการในการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ที่ ตรอ.

เมื่อนำรถเข้าไปตรวจสภาพที่ ตรอ. จะมีค่าบริการที่ถูกกำหนดจากกรมขนส่งทางบก โดยสามารถแบ่งได้ตามประเภท ดังนี้

  1. รถจักรยานยนต์คันละ 60 บาท

  2. รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท

  3. รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท

ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ. หรือสถานตรวจสภาพรถยนต์เอกชน ที่ผู้ใช้รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์หลายๆ คนเลือกนำรถไปตรวจสภาพประจำปีก่อนต่อภาษี ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนที่ไม่มีเวลา หรือไม่สะดวกที่จะเข้าไปที่กรมการขนส่งทางบก

ใครที่กำลังมองหาพรบรถยนต์ที่คุ้มค่าบนช่องทางออนไลน์ง่ายๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอนพร้อมรับรับสิทธิการคุ้มครองทันที รวมถึงแผนประกันรถยนต์ที่มีคุณภาพ บริการรวดเร็วทันใจ ขอแนะนำประกันภัยรถยนต์ จากวิริยะประกันภัย หลากหลายประกันภัยที่สามารถคุ้มครองรถยนต์ของคุณได้ไม่ว่าจะเป็น ประกันชั้น 1 ที่ดูแลครบ จบทุกความต้องการหรือ ประกันรถยนต์ 2+ ซื้อง่ายคุ้มครองเร็ว หรือประกันรถยนต์ 3+ ประกันคุ้มจบในที่เดียว ที่วิริยะประกันภัยเรามีครบจบที่เดียวสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.viriyah.com หรือ โทร.สอบถามได้ที่เบอร์ 0-2129-7474

อ่านบทความอื่นๆ