“ใบสั่งจราจร” ดูอย่างไรว่าเป็นของจริงหรือของปลอม?
"ใบสั่งค่าปรับจราจร" กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับแก๊งมิจฉาชีพในการหลอกลวงประชาชน เพราะปัจจุบันมีใบสั่งจราจรแบบออนไลน์หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเป็นทางการว่า ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) จะมีความคล้ายกับใบเสร็จทั่วไปตามห้างสรรพสินค้าและมีคิวอาร์โค้ด (QR Code) สำหรับสแกนเพื่อจ่ายค่าปรับ ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ทำให้มิจฉาชีพใช้ในการหลอกได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใบสั่งจราจรที่ได้รับนั้นเป็นใบสั่งจริงหรือใบสั่งปลอมกันแน่ วันนี้เราเลยมีทริคในการตรวจเช็กใบสั่งจราจรกันว่าเป็นของจริงหรือของปลอมมาฝาก
ใบสั่งจราจรมีกี่แบบ
สำหรับใบสั่งค่าปรับจราจรในปัจจุบัน มีด้วยกัน 3 แบบหลักๆ คือ ใบสั่งจราจรแบบเขียนด้วยลายมือ, ใบสั่งจราจรส่งทางไปรษณีย์ (ตรวจจับความเร็วจากกล้อง), ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่หลายๆ คนเรียกกันว่าใบสั่งออนไลน์ (e-Ticket) โดยใบสั่งจราจรทั้ง 2 แบบแรก จะเป็นใบสั่งค่าปรับจราจรที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ เพราะถูกใช้มาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันใบสั่งจราจรแบบอิเล็กทรอนิกส์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งผ่านทางไปรษณีย์เช่นเดียวกัน
ใบสั่งจริง ใบสั่งปลอม ดูอย่างไร
ใบสั่งจราจรที่เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน จะมีเลขที่ใบสั่ง เลขทะเบียนรถและประเภทของรถยนต์คันที่กระทำผิด รวมถึงข้อหาในการกระทำผิด พร้อมค่าปรับตามอัตราที่กำหนด ตลอดจนข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น ชื่อเจ้าพนักงานที่ทำการออกใบสั่งค่าปรับจราจร สถานที่ วัน เวลาที่ทำผิด และระยะเวลาในการชำระค่าปรับด้วย
นอกจากนี้ใบสั่งจราจรที่เป็นของจริงด้านล่างจะมี QR Code ที่ใช้สำหรับชำระค่าปรับผ่าน Mobile Banking อยู่ที่ด้านซ้ายล่าง ส่วนด้านขวาล่างจะเป็น QR Code สำหรับขอข้อมูลเพิ่มเติมเอาไว้สแกนตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งจราจร และอีกหนึ่งจุดที่สามารถทำการตรวจเช็กได้ว่าใบสั่งจราจรที่ได้รับเป็นของจริงหรือของปลอมนั้นก็คือ บัญชีธนาคารปลายทางที่รับชำระค่าปรับจะต้องเป็นธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ - ค่าปรับจราจร” เท่านั้น หากเจอชื่ออื่นหรือธนาคารอื่น ให้เดาไว้เลยว่าเป็นใบสั่งจราจรปลอม
ส่วนใครที่อยากเช็กให้ชัวร์ว่าใบสั่งจราจรที่ได้รับมาเป็นของจริงหรือของปลอม ก็สามารถเช็กผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บ http://ptm.police.go.th โดยมีวิธีการเช็กดังนี้
-
เมื่อเข้าเว็บไซต์ http://ptm.police.go.th แล้วให้ทำการลงทะเบียนโดยการใช้หมายเลขบัตรประชาชน หรือเลขบัตรใบขับขี่ หรือหมายเลขทะเบียนรถในการลงทะเบียน
-
จากนั้นเข้าสู่ระบบด้วยเลขที่ลงทะเบียน พร้อมรหัสผ่านที่ตั้งเอาไว้
-
หลังจากที่ล็อกอินเรียบร้อย ให้ทำการค้นหาใบสั่งจราจรด้วยการระบุวันที่ที่กระทำผิด โดยการกรอกเลขทะเบียนรถหรือเลขใบสั่งก็ได้
-
เมื่อกดค้นหาใบสั่งจราจรและเจอใบสั่ง จะสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดของใบสั่งจราจรที่เคยได้รับได้
-
หากพบเจอใบสั่งที่ค้างชำระอยู่ ก็สามารถชำระค่าปรับได้เลยทันที
ใบสั่งค่าปรับจราจร จ่ายที่ไหน?
การจ่ายค่าปรับ สามารถทำได้หลากหลายช่องทาง ดังนี้
-
จ่ายผ่าน Application Krungthai Next
-
จ่ายผ่าน Application เป๋าตัง
-
แสกนจ่ายผ่าน QR Code ด้านล่างของใบสั่งจราจรผ่าน Mobile Banking โดยสามารถจ่ายผ่านได้ทุกแอปธนาคาร
-
จ่ายผ่านตู้ ATM และตู้รับฝากเงินสด ADM (เสียค่าธรรมเนียมต่อรายการ 15 บาท)
-
จ่ายที่ธนาคารสาขาไหนก็ได้ (เสียค่าธรรมเนียมต่อรายการ 20 บาท)
-
จ่ายผ่านตู้บุญเติม (เสียค่าธรรมเนียมต่อรายการ 20 บาท)
-
จ่ายผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยได้ (เสียค่าธรรมเนียมต่อรายการ 15 บาท)
-
จุดที่มีสัญลักษณ์ PTM ชำระค่าปรับจราจร
-
จ่ายที่จุดชำระเงิน CenPay ได้ตามห้าง Central, Robinson, แฟมิลี่มาร์ท, Tops, ร้าน B2S, Power Buy เป็นต้นได้
การปฏิบัติตามกฎหมายจราจรเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะไม่เป็นการทำผิดกฎหมายและไม่ต้องเสียค่าปรับกับใบสั่งจราจรแล้ว ยังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันได้ แต่หากขับรถตามกฎแล้วยังมีใบสั่งจราจรส่งมาที่บ้านอยู่ ให้ตรวจสอบใบสั่งค่าปรับจราจรตามที่เรานำมาฝาก เพื่อป้องกันไม่ให้โดนมิจฉาชีพหลอกได้
ใครที่กำลังมองหาประกันรถยนต์ที่มีคุณภาพ บริการรวดเร็วทันใจ เป็นธรรมอยู่ เราขอแนะนำประกันภัยรถยนต์ จากวิริยะประกันภัย หลากหลายประกันภัยที่สามารถคุ้มครองรถยนต์ของคุณได้ไม่ว่าจะเป็น ประกันชั้น 1 ที่ดูแลครบ จบทุกความต้องการหรือ ประกันรถยนต์ 2+ ซื้อง่ายคุ้มครองเร็ว หรือประกันรถยนต์ 3+ ประกันคุ้มจบในที่เดียว และใครที่กำลังมองหาการต่อพรบรถยนต์ที่คุ้มค่า ที่วิริยะประกันภัยเรามีครบจบที่เดียวสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.viriyah.com หรือ โทร.สอบถามได้ที่เบอร์ 0-2129-7474