แนะ! วิธีตรวจสอบมิจฉาชีพง่ายๆ ด้วยตัวเอง กรอกเสร็จรู้เลย
การถูกหลอกจากแก๊งมิจฉาชีพ… เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เราเห็นในข่าวคราวอยู่เรื่อยๆ ยิ่งยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรดามิจฉาชีพทั้งหลายต่างอัปสกิลกลโกง มีลูกเล่น ชั้นเชิงที่หลากหลายและสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่กำลังระบาดหนัก ทั้งการหลอกขายสินค้า เป็นตัวแทนขายสินค้าบริษัทดังๆ การแอบอ้างชื่อคนรู้จัก หรือแม้กระทั่งปลอมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือพนักงานจากบริษัทต่างๆ เพื่อหลอกนำข้อมูลส่วนตัวไปทำผิดกฎหมาย หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อหรือถูกโกง วันนี้เรามีวิธีตรวจสอบมิจฉาชีพก่อนตกลงปลงใจทำธุรกรรมมาฝาก มีวิธีไหนบ้างไปดูกัน
4 วิธีตรวจสอบมิจฉาชีพ มีอะไรบ้าง?
ปัจจุบันมีเหล่ามิจฉาชีพแฝงตัวอยู่ในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของหน่วยงาน ขนส่ง ฯลฯ ถ้าเราไม่ระวังอาจตกเป็นเหยื่อได้ แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะการตรวจสอบมิจฉาชีพหรือเช็คประวัติมิจฉาชีพนั้นก็สามารถทำได้ง่ายๆ เช่นกัน เรียกได้ว่ากรอกเสร็จรู้ทันที! โดยมีวิธีตรวจสอบมิจฉาชีพดังนี้
1.ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ
เป็นวิธีตรวจสอบมิจฉาชีพที่สามารถทำได้ง่ายๆ สำหรับคนที่ชอบซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการนำชื่อเพจร้านค้า หรือชื่อ-นามสกุลของบัญชีนั้นๆ ไปค้นหาบน Google ก็จะขึ้นรายละเอียดมาว่า ชื่อ-นามสกุล หรือชื่อเพจร้านค้า เว็บไซต์นี้เคยมีประวัติมิจฉาชีพหรือไม่ หากเช็คประวัติมิจฉาชีพแล้วไม่พบข้อมูลดังกล่าว ก็สามารถการันตีได้ระดับหนึ่งว่าร้านค้าหรือเพจที่ติดต่อด้วยมีความน่าเชื่อถือและสามารถทำการซื้อขายด้วยได้
2.เช็คประวัติมิจฉาชีพหรือบัญชีมิจฉาชีพ
เพิ่มความอุ่นใจให้มากขึ้นด้วยการเช็คประวัติมิจฉาชีพหรือบัญชีมิจฉาชีพ หากไม่แน่ใจว่าคนที่ติดต่ออยู่เป็นมิจฉาชีพหรือไม่ โดยสามารถเช็คประวัติมิจฉาชีพผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ‘Blacklistseller’, ฉลาดโอน, เช็กก่อน.com เป็นต้น ซึ่งในเว็บไซต์เหล่านี้จะมีข้อมูลของมิจฉาชีพอย่างละเอียด ทั้งชื่อบัญชีมิจฉาชีพ, รายชื่อมิจฉาชีพ, เลขบัญชีมิจฉาชีพ, เบอร์โทรศัพท์ จนถึง SMS ของผู้รับโอนว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
3.ตรวจสอบมิจฉาชีพผ่านโซเชียลมีเดีย
เป็นอีกวิธีตรวจสอบมิจฉาชีพที่ได้ผลมากและไม่ต้องรอนาน คือการเช็คประวัติมิจฉาชีพผ่านทางสื่อ Social Media ต่างๆ ด้วยการนำชื่อเพจ, ชื่อร้านค้า, ชื่อบัญชีหรือเลขบัญชี ไปพิมพ์ในช่องค้นหา ซึ่งหากรายละเอียดที่เรานำไปค้นหามีความเกี่ยวข้องกับมิจฉาชีพจะมีรายละเอียดต่างๆ ขึ้นมา โดยอาจมาจากผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อ หรือรู้เท่าทันเหล่ามิจฉาชีพมาแชร์ประสบการณ์หรือข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไว้บนสื่อต่างๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราสามารถตรวจสอบมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็ว
4.ตรวจสอบ URL
ใครที่เป็นสายชอปปิงออนไลน์ควรรู้เอาไว้ เพราะในปัจจุบันเพจ Facebook ขององค์กรหรือธุรกิจต่างๆ ที่เป็นของจริง มีความคล้ายคลึงกับเพจ Facebook ปลอมที่เหล่ามิจฉาชีพสร้างขึ้น เพียงแต่จะมีตัวอักษรพิเศษ เครื่องหมายเว้นวรรค หรือตัวอักษรภาษาต่างประเทศแทรกอยู่ ทำให้มองผ่านๆ ดูเป็นเพจจริงได้ ดังนั้นการนำ URL ของเพจต่างๆ ที่ติดต่ออยู่ไปตรวจสอบ จึงเป็นวิธีที่ช่วยเซฟให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อได้นั่นเอง ซึ่งวิธีสังเกตก็คือ เพจที่เป็นของจริงจะมี URL ที่สั้นและตรงประเด็น แต่ถ้าเป็นเพจปลอม URL จะมีความยาวและมีตัวอักษรหรือเลขปะปนอยู่ด้วย
ทั้งนี้นอกจากตรวจสอบ URL แล้ว อีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่สามารถตรวจสอบมิจฉาชีพได้ คือ ดูเครื่องหมาย Verified รวมถึงอ่านข้อมูลเกี่ยวกับเพจนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรีวิวหรือคอมเมนต์ ก็จะช่วยให้รู้ได้ว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่อีกด้วย
บัญชีมิจฉาชีพ คืออะไร? บัญชีมิจฉาชีพ หรือ ‘บัญชีม้า’ คือบัญชีที่ถูกเปิดเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะใช้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อที่ขโมยมา เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ มาเปิดบัญชีออนไลน์ เพื่อไม่ให้มีหลักฐานเชื่อมโยงถึงตัวเองนั่นเอง
|
แนวทางป้องกันการถูกหลอก จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ
การหลอกหลวงของเหล่ามิจฉาชีพนั้นมีกลโกงรูปแบบใหม่มาใช้อยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อและสูญเสียเงิน เรามีแนวทางป้องกันมาฝากทุกคน ดังนี้
- อย่าใจร้อน > เพราะหากใจร้อนจะทำให้เราตกเป็นเหยื่อของกลโกงที่เหล่ามิจฉาชีพวางไว้ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าและต้องโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ ทางที่ดีควรตรวจสอบข้อมูลสินค้าหรือชื่อบัญชีผู้รับโอนให้ละเอียดก่อนที่จะทำการโอน
- ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว > ข้อมูลส่วนตัวของเราถือเป็นความลับที่ไม่ควรให้คนอื่นรู้ ไม่ว่าจะเป็นรหัส OTP บัญชีธนาคาร รหัสผ่านสมาร์ทโฟนและอีกมากมาย เพราะมิจฉาชีพสามารถแฮ็คข้อมูลของเรานำไปใช้ในทางผิดกฎหมายได้โดยที่เราไม่รู้ตัวนั่นเอง
- ไม่โอนเงินผ่านบัญชีบุคคล > หากซื้อสินค้าออนไลน์หรือทำธุรกรรมต่างๆ และต้องโอนเงินออนไลน์ ให้ตรวจสอบว่าบัญชีปลายทางที่รับเงินนั้นเป็นบัญชีขององค์กรหรือธุรกิจนั้นๆ จริง ไม่ควรโอนเงินเข้าบัญชีที่เป็นชื่อส่วนบุคคล เพราะอาจเป็นบัญชีม้าที่ทางมิจฉาชีพนำมาหลอกให้โอนเงินนั่นเอง หรือถ้าทางร้านค้ามีให้เก็บเงินปลายทาง ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราถูกหลอกได้อีกด้วย
รู้ตัวว่าโดนหลอก ตกเป็นเหยื่อไปแล้ว ต้องทำอย่างไร?
ถึงเเม้ว่าเราจะระมัดระวังอยู่ตลอด แต่บางครั้งก็อาจพลาดที่ไม่ทันได้เช็คประวัติมิจฉาชีพจนทำให้ตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัวได้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นขอแนะนำให้ทำตามนี้
1.ติดต่อธนาคารระงับการโอนเงิน
สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกหลังจากที่รู้ตัวว่าโดนหลอก คือ ติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินต้นทางให้ระงับการโอนเงินหรือถอนเงินออกจากบัญชีภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อติดต่อกับทางธนาคารแล้วจะได้รับ Bank Case ID ที่เป็นหมายเลขสำหรับติดตามความคืบหน้า รวมถึงระบุตัวตนว่าใครเป็นผู้แจ้งระงับการโอนเงินนี้ ไม่ควรให้คนอื่นรู้หมายเลขเป็นอันขาด!
2.รวบรวมหลักฐาน
หลังจากได้รับ Bank Case ID จากธนาคารหรือสถาบันการเงินแล้ว ให้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเกี่ยวกับการถูกหลอกโอนเงินให้ได้มากที่สุด ทั้งภาพโปรไฟล์ของเพจหรือร้านค้า แชทสนทนา สลิปโอนเงิน เลขบัญชีธนาคารที่เป็นผู้รับโอน เป็นต้น เพื่อเป็นหลักฐานทางกฎหมายต่อไป
3.แจ้งความกับตำรวจท้องที่ หรือแจ้งความออนไลน์
เมื่อรวบรวมหลักฐานสำคัญที่พอจะหาได้เรียบร้อยแล้ว ให้ไปแจ้งความกับตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ ซึ่งเอกสารส่วนตัวที่ต้องเตรียมไปด้วย คือ สำเนาบัตรประชาชนและสมุดบัญชีธนาคารที่ทำการโอนเงิน เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวตนว่าเราเป็นผู้เสียหาย หากไม่สะดวกไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ก็สามารถแจ้งความผ่านทางออนไลน์ได้เช่นกัน โดยช่องทางในการแจ้งความออนไลน์สามารถคลิกที่นี่ https://thaipoliceonline.com หรือ https://www.ccib.go.th
4.ติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งระงับบัญชีมิจฉาชีพ
หลังจากแจ้งความและได้รับใบแจ้งความแล้ว ให้ติดต่อกับธนาคารหรือสถาบันการเงินปลายทางที่มีการโอนเงินไป เพื่อยื่นเรื่องขอระงับและตรวจสอบบัญชีมิจฉาชีพกับทางเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
เป็นยังไงกันบ้างกับวิธีตรวจสอบมิจฉาชีพง่ายๆ ที่คุณสามารถทำด้วยตัวเองได้ รวมถึงแนวทางป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่เรานำข้อมูลมาบอกต่อให้ทุกคนได้รู้กัน อย่างไรตาม ควรมีสติทุกครั้งที่ติดต่อธุรกรรมหรือโอนเงินทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดก่อนที่จะซื้อขายสินค้า ก็จะช่วยให้คุณปลอดภัยจากกลโกงของมิจฉาชีพแล้ว